เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [16.ญาณวิภังค์] 10.ทสกนิทเทส
5. นานาธิมุตติกญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้สัตว์ที่มีอัธยาศัยแตกต่างกัน)
[813] พระตถาคตทรงทราบความที่สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีอัธยาศัยต่าง ๆ
กันตามความเป็นจริง เป็นไฉน
พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็มี สัตว์ทั้ง
หลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็มี เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทรามย่อมคบหาสมาคมเข้าไป
หาบ่อย ๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตก็คบหา
สมาคมเข้าหาบ่อย ๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต
แม้แต่ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามได้คบหาสมาคมเข้าหา
บ่อย ๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ผู้มีอัธยาศัยทรามมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็
ได้คบหาสมาคมเข้าหาบ่อย ๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตมาแล้ว
แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทราม ก็จักคบหาสมาคมเข้าหา
บ่อย ๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็จักคบหา
สมาคมเข้าหาบ่อย ๆ ซึ่งเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิในความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่าง ๆ กันนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรง
ทราบความที่สัตว์ทั้งหลายมีอัธยาศัยต่าง ๆ กันตามความเป็นจริง (5)

6. อินทริยปโรปริยัตติญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้สัตว์ที่มีอินทรีย์แก่กล้า และไม่แก่กล้า)
[814] (6) พระตถาคตทรงทราบความแก่กล้าและไม่แก่กล้าแห่ง
อินทรีย์ของสัตว์เหล่าอื่นของบุคคลเหล่าอื่นตามความเป็นจริง เป็นไฉน
พระตถาคตในโลกนี้ทรงทราบอาสยะ อนุสัย จริต อธิมุตติ1 ของสัตว์ทั้งหลาย
ทรงทราบสัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีคือกิเลสน้อย มีธุลีคือกิเลสมาก มีอินทรีย์แก่กล้า มี

เชิงอรรถ :
1 อาสยะ ได้แก่ ทิฏฐิและยถาภูตญาณอันเป็นที่อาศัยอยู่ของเหล่าสัตว์
อนุสัย ได้แก่ กิเลสที่นอนเนื่องซึ่งยังละไม่ได้
จริต ได้แก่ กุศลและอกุศลที่กายกรรมเป็นต้นปรุงแต่ง
อธิมุตติ ได้แก่ อัธยาศัยของเหล่าสัตว์ (อภิ.วิ.อ. 814/493-4)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :525 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [16.ญาณวิภังค์] 10.ทสกนิทเทส
อินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว แนะนำให้เข้าใจได้ง่าย แนะนำให้เข้าใจได้ยาก
ควรบรรลุธรรมและไม่ควรบรรลุธรรม
[815] อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ความเห็นว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะเป็น
อย่างหนึ่ง สรีระก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็น
คนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก
หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็ใช่ หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยภวทิฏฐิหรือวิภวทิฏฐิดัง
กล่าวมานี้ หรือสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่เข้าไปอาศัยที่สุดทั้ง 2 นี้ ได้อนุโลมิกขันติ1 ใน
สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยของกันและกันและอาศัยกันและกันเกิดขึ้นก็มี ญาณ
รู้ตามความเป็นจริง2 นี้ชื่อว่าอาสยะของสัตว์ทั้งหลาย
[816] อนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
อนุสัย 7 คือ

1. กามราคานุสัย (อนุสัยคือกามราคะ) 2. ปฏิฆานุสัย (อนุสัยคือปฏิฆะ)
3. มานานุสัย (อนุสัยคือมานะ) 4. ทิฏฐานุสัย (อนุสัยคือทิฏฐิ)
5. วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือวิจิกิจฉา) 6. ภวราคานุสัย (อนุสัยคือภวราคะ)
7. อวิชชานุสัย (อนุสัยคืออวิชชา)

ราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูปสาตรูป3 ในโลก ปฏิฆานุสัย
ของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอัปปิยรูปอสาตรูปในโลก อวิชชาตกไปใน
สภาวธรรมทั้ง 2 นี้ ด้วยอาการอย่างนี้ มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา พึงเห็นว่าตั้ง
อยู่ในฐานะแห่งเดียวกันกับอวิชชานั้น นี้ชื่อว่าอนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 อนุโลมขันติ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ (อภิ.วิ.อ. 815/494)
2 ญาณรู้ตามความเป็นจริง ได้แก่ มรรคญาณ (อภิ.วิ.อ. 815/494)
3 สภาวะที่น่ารัก น่าชื่นใจ มุ่งเอาส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา (อภิ.วิ.อ. 816/495)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :526 }